เตรียมตัวก่อนเริ่มต้นลงทุนใน SSF/RMF กับ สิ่งที่คุณควรรู้ และความแตกต่าง

15 ตุลาคม 66

เมื่อพูดถึงการลงทุนที่ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ทางเลือกที่น่าสนใจในปัจจุบัน คือ SSF และ RMF

- กองทุน SSF คือ กองทุนรวมเพื่อการออม
- กองทุน RMF คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ



ทั้ง 2 กองทุน สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ทั้งคู่ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนได้นำเงินมาเก็บออมไว้ใช้ในชีวิตหลังเกษียณผ่านการลงทุนระยะยาว ที่มีเงื่อนไขในการขายออก พูดง่ายๆคือถูกบังคับห้ามขายคืนออกมาระหว่างทางจนกว่าจะเข้าเกณฑ์ที่กำหนด โดยทั้ง 2 กองทุนมีลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีเงื่อนไขบางจุดที่ต่างกัน ดังนั้นทุกท่านควรจะต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน เพื่อให้เหมาะกับตัวเองมากที่สุด





มาเริ่มกันที่จำนวนเงินที่ซื้อได้สูงสุด

กองทุนรวม SSF ซื้อได้สูงสุด ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท


กองทุนรวม RMF ซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

 
แต่ทั้ง 2 กองทุน ใช้วงเงินร่วมกับสินทรัพย์เพื่อการเกษียณอื่นๆด้วย เช่น
   - กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

   - ประกันชีวิตแบบบำนาญ
   - กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
   - กองทุนการออมแห่งชาติ
  กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน


โดยทั้งหมดที่กล่าวมาเมื่อรวมกับการลงทุนใน SSF และ RMF ต้องไม่เกิน 500,000 บาท จะเห็นว่าก่อนการตัดสินใจลงทุนใน SSF และ RMF ก็ควรที่จะตรวจสอบเงินของตัวเองก่อนว่าอยู่ในข้อใดบ้าง และเป็นจำนวนเท่าไหร่แล้ว ยังเหลือจากวงเงิน 500,000 บาทอยู่เท่าไร


เงื่อนไขการลดหย่อนภาษี

ทั้ง 2 กองทุน ใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ปีต่อปี ซื้อปีไหน ใช้ลดหย่อนได้แค่ปีนั้น




ขั้นต่ำในการลงทุน

ทั้ง 2 กองทุนไม่มีขั้นต่ำในการลงทุนในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับว่ากองทุนที่ท่านกำลังตัดสินใจซื้อกำหนดขั้นต่ำไว้กี่บาท ซึ่งปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่เป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก เช่น 500 บาท เป็นต้น

 

ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปีหรือไม่

- กองทุน SSF ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ท่านซื้อปีไหน ก็ใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ปีนั้น

- กองทุน RMF ท่านจำเป็นต้องซื้อต่อเนื่อง อย่างน้อยปีเว้นปีไปเรื่อยๆจนกว่าจะเกษียณอายุ เมื่อซื้อปีไหน ก็ใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ปีนั้นๆเช่นเดียวกัน 

 

สามารถขายออกได้ตอนไหน

กองทุนรวม SSF ขายได้เมื่อถือครองครบ 10 ปีบริบูรณ์ เช่นก้อนที่ท่านซื้อ วันที่ 1 พ.ย. 2022 ก็จะขายได้ตั้งแต่ 2 พ.ย. 2032 เป็นต้นไป ก้อนไหนลงทุนก่อนก็ขายได้เร็วกว่าก้อนที่ลงทุนถัดๆไป

กองทุนรวม RMF จะขายได้ก็ต่อเมื่อครบเงื่อนไข 2 ข้อ ได้แก่

       - อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว

       - มีการลงทุนติดต่อมาไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง นับตั้งแต่การซื้อครั้งแรก เช่น ถ้าท่านเริ่มลงทุนตอนอายุ 51 ปี และซื้อติดต่อกันทุกปีจนอายุ 55 ปี ท่านก็จะสามารถขายออกได้ทั้งหมด แต่ถ้าท่านเริ่มลงทุนตอนอายุ 51 ปี แต่ซื้อปีเว้นปี เมื่ออายุ 55 ปี
         จะมีการลงทุนไปแค่ 3 ครั้ง จะยังไม่สามารถขายออกได้ ท่านจะต้องลงทุนไปอีก 2 ครั้ง จึงจะขายออกได้ทั้งหมด ซึ่งหากท่านเข้าเกณฑ์ขายได้อย่างถูกเงื่อนไข ท่านจะสามารถเลือกขายออกไปทีเดียวทั้งหมดทุกก้อนที่มีก็ได้ หรือจะทยอยขายออกไปบางส่วนได้เรื่อยๆไม่ว่ากัน

          แต่ข้อควรระวังก็คือเมื่อใดก็ตามที่ท่านมีการขายแบบถูกเงื่อนไขออกไปแล้วไม่ว่าจะทั้งหมด หรือบางส่วน และมีการกลับมาลงทุนใน RMF ใหม่อีกครั้ง การลงทุนตั้งแต่ก้อนดังกล่าวจะถูกนับเป็นการลงทุนครั้งที่ 1 ทันที แม้ท่านจะอายุครบ 55 ปีแล้วและเคยลงทุนมาก่อนหน้านี้เกิน 5 ครั้งแล้วก็ตาม ท่านจะต้องลงทุนให้ครบอีก 4 ครั้งจึงจะขายออกได้อีกครั้ง พูดง่ายๆว่าตัดกันที่การขายออกก้อนหลังจากนั้นนับ 1 ใหม่เสมอ ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับก้อนก่อนหน้าที่ถูกเงื่อนไขและท่านกำลังทยอยขายออกครับ


นโยบายการลงทุน
ทั้ง 2 กองทุนสามารถลงทุนได้ในทุกสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น หุ้นไทย, หุ้นต่างประเทศ, ตราสารหนี้ไทย, ตราสารหนี้ต่างประเทศ, อสังหาริมทรัพย์ไทย, อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ, ลงทุนผสมหลายสินทรัพย์ หรือ ทองคำ เป็นต้น แต่จะยกเว้นน้ำมันที่ทั้ง 2 กองทุนยังไม่มีครับ ดังนั้นก็จะอยู่ที่ว่าสินทรัพย์ที่ท่านชอบหรือกำลังมองหา ปัจจุบันมีบลจ.ใด นำมาออกเป็น SSF หรือ RMF หรือไม่

การจ่ายปันผล
แน่นอนว่าทั้ง 2 กองทุนบังคับให้เราลงทุนในระยะยาว บางท่านอาจมองหาการจ่ายเงินปันผลออกมาระหว่างทาง โดยปัจจุบันจะมีแค่กองทุน SSF นะครับ ที่เปิดนโยบายให้กองสามารถจ่ายปันผลออกได้ แต่ท่านยังต้องดูข้อมูลใน Factsheet กองนั้นๆอีกครั้งหนึ่งว่ากองดังกล่าวเลือกนโยบายเป็นแบบจ่ายปันผล หรือ ไม่จ่ายปันผล
ส่วนกองทุน RMF ทุกกองจะไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หลังจากได้พิจารณาความแตกต่างระหว่าง SSF และ RMF ที่เราหยิบมาฝากกันแล้ว หวังว่าทุกท่านจะได้มีไอเดียในใจกลับไปว่าควรจะเลือกลงทุนในกองทุน SSF หรือ RMF ดี

ดูข้อมูลกองทุน คลิกที่นี่
สนใจเปิดบัญชีกองทุน 
คลิกที่นี่



เปิดบัญชีหุ้น