Blog Economics  โดย คุณตา นุชจรินทร์ Blog Strategy โดย คุณเอส กรภัทร Blog Fundamental โดย คุณเพลิน เพลินใจ Blog Technical โดย คุณชัย คณฆัส
KRUNGSRI CAPITAL IRIS TEAM BLOGS

เงินเฟ้อ เงินฝืด การฟื้นตัวของเงินเฟ้อ ภาวะเงินเฟ้อลดลง คืออะไร

10 สิงหาคม 66
  
Inflation เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เงินเฟ้อ วัดจาก “ดัชนีราคาผู้บริโภค” คำนวณจากราคาสินค้าและบริการ 430 รายการ ครอบคลุมสินค้าและบริการ
7 หมวดได้แก่
1. หมวดอาหารและเครื่องดื่ม
2.หมวดเคหสถาน
3.หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร
4.หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า
5.หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล
6.หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา
7.หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

ในประเทศไทยผู้ที่กำหนดดัชนีราคาผู้บริโภคคือกระทรวงพาณิชย์

เงินเฟ้อกับนโยบายการเงิน โดยทั่วไปธนาคารกลางมักไม่ต้องการให้เงินเฟ้อสูงเกินไป โดยในแต่ละประเทศมีเป้าหมายเงินเฟ้อไม่เท่ากัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบยุโรป อาจกำหนดเงินเฟ้อไม่เกิน 2% ในขณะที่อินเดียอาจกำหนดเงินเฟ้อที่ 5% เป็นต้น สำหรับประเทศไทย มักกำหนดเงินเฟ้อที่ประมาณ 2% เงินเฟ้อมีผลกระทบกับเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ เช่น ผู้บริโภคมักจะรีบซื้อสินค้าในขณะที่สินค้านั้นมีแนวโน้มราคาที่จะสูงขึ้น สิ่งที่ธนาคารกลางจะทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสมคือการกำหนดนโยบายการเงิน เช่น เงินเฟ้อสูงเกินไปธนาคารจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดอุปสงค์มวลรวมของประเทศลงมา เนื่องจากเมื่อดอกเบี้ยแพงผู้บริโภคอาจจะซื้อน้อยลง หรือนักลงทุนอาจจะลงทุนน้อยลง แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำ ธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น หรือว่าธุรกิจลงทุนได้ง่ายขึ้น


สรุปคือ เงินเฟ้อต้องไม่เกินเป้าหมายที่ธนาคารกลางของแต่ประเทศกำหนดไว้ หากสูงหรือต่ำเกินไปจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อปรับเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่วางไว้



Deflation เงินฝืด คือ ภาวะที่ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอิงจากดัชนีราคาผู้บริโภคว่ามีการลดลงอย่างต่อเนื่องเท่าไรเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางของแต่ละประเทศอาจมีคำนิยามชัดเจนว่าภาวะเงินฝืดต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น ประเทศในยุโรปดัชนีราคาผู้บริโภคต้องติดลบติดต่อกันนาน 6 เดือน เป็นต้น ภาวะเงินฝืดมักจะเกิดในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีกำลังในการซื้อสินค้าและบริการ เมื่อไม่มีกำลังซื้อสินค้า ตลาดก็จะลดราคาเมื่อราคาสินค้าลดลงมากขึ้น ผู้ผลิตอาจต้องลดอัตราการผลิตลงซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงการจ้างงาน เป็นต้น

เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด รัฐบาลมักจะมีนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย เช่น นโยบายการคลังอาจจะออกมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ส่วนนโยบายการเงินจากธนาคารกลางมักจะลดดอกเบี้ย เป็นต้น




Reflation การฟื้นตัวของเงินเฟ้อ

การฟื้นตัวของเงินเฟ้อ มักจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมากๆ รัฐบาลจะใช้นโยบายการคลัง ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินเพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือให้ดัชนีราคาผู้บริโภคขยับขึ้น ในเชิงนโยบายการเงินในช่วงที่เงินเฟ้อขยับขึ้น ธนาคารจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย เพราะว่าเงินเฟ้อขยับขึ้นแต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคขยับขึ้นจาก -1.1% เป็น 0.75% แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคเป้าหมายคือ 1-3% ดังนั้นหากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อยังไม่ถึงเป้าหมายธนาคารกลางจะยังคงนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายคือยังจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยเป็นต้น




Disinflation ภาวะเงินเฟ้อลดลง

ภาวะเงินเฟ้อลดลงแต่ยังไม่ติดลบ มักจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจดีมากๆ ธนาคารกลางจึงขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้อุปสงค์มวลรวมในประเทศลดลง เงินเฟ้อจึงลดลงแต่ยังไม่ติดลบ เช่น ถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2% เดือนต่อมาลดลงเหลือ 1.75% และ 1.5 % เหลือ 1.2% แต่ยังไปถึงขึ้นติดลบ เป็นต้น




สนใจเปิดบัญชีลงทุนกับ บล.กรุงศรี พัฒนสิน คลิกที่นี่